

กาละแม (Kalamae)
Thai caramel
Story
ในอดีต “กาละแม” มักจะทำกันในวันขึ้นปีใหม่ของไทยหรือในวันสงกรานต์ เพราะเป็นขนมที่ต้องอาศัยแรงคนในการมาช่วยกันกวน จึงเป็นการเริ่มปีใหม่ด้วยความสมัครสมานสามัคคี และความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันของคนไทย หลังจากทำเสร็จก็จะแบ่งกันไปทานที่บ้าน กาละแม สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดมาจากหลากหลายที่ เช่น กาลาเม็ก ของฝรั่งเศส คาราเมล ขนมจากอังกฤษ ฮูละวะ ของอินเดีย หรือ เกละไม จากมลายู แต่ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน แต่กาละแมก็เป็นที่อยู่ประเทศไทยมาเนิ่นนาน เป็นขนมที่มีแป้ง นม และน้ำตาล เป็นส่วนผสม และใช้ใบตอง ห่อเป็นรูปสามเหลี่ยมพีรามิด ต่อมา มีการปรับเป็นการใช้พลาสติกห่อแทน ปัจจุบันกาละแมมีหลายสีและหลายสูตร ต่างจากในอดีตที่มีแค่เพียงสีดำ รสชาติหวาน หอม เนื้อเหนียวนุ่มและเนียน รับประทานคู่กับกาแฟดำ หรือชาร้อนก็เข้ากัน
วัตถุดิบ
แป้งท้าวยายม่อม 1 ถ้วยตวง
แป้งข้าวเหนียว 1 ถ้วยตวง
แป้งถั่วเขียว ½ ถ้วยตวง
กะทิ 5 ถ้วยตวง
น้ำตาลโตนด 1 ½ ถ้วยตวง
น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง
น้ำปูนใส 1 ถ้วยตวง

วิธีทำ
- นำแป้งทั้ง 3 ชนิดมาผสมให้เข้ากัน ค่อย ๆ รินกะทิลงไป เติมน้ำตาลทีละน้อย และนวดแป้งนาน 20-30 นาที จนไม่เหลือเม็ดน้ำตาล หากต้องการสีใดก็ใส่ลงไป นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน สีสม่ำเสมอ
- นำน้ำแป้งที่ได้ขึ้นตั้งไฟ และกวนอย่างต่อเนื่อง 4-5 ชั่วโมง จนกาละแมเหนียวและเป็นเนื้อเดียวกัน ยกลงพักไว้ให้เย็น
- นำมาห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้วยใบตองหรือแผ่นพลาสติก หรือตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ
New Dish
เมนูสร้างสรรค์ใหม่
Yuki Caramel (ยูกิกาละแม)


จากการรังสรรค์ของ
เชฟเสาวรส ศรีสุริยาพัฒน์กุล (ปริ๊นซ์)
ร้าน CLUB ANDA
ช่วงที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้มีโอกาสลองรับประทานขนมโมจิอยู่บ่อยครั้ง เวลาที่รับประทานก็ชวนให้นึกถึงขนมโบราณของบ้านเราอย่าง “กาละแม” หลังจากได้ลองศึกษาขนมทั้งสองชนิดนี้ ก็รู้สึกถึงความคล้ายคลึงกันในหลาย ๆ อย่าง จึงอยากจะลองนำขนมของทั้ง 2 ประเทศนี้ มาผสมผสานให้เกิดเป็นขนมใหม่ที่เป็นโคโคนัทครีมเบสสอดไส้กาละแม มีสปันจ์เค้กอยู่ด้านบน แล้วหุ้มด้วยโมจิ วางบนคุกกี้ครัมเบิลมะพร้าว สร้างสรรค์รสชาติและหน้าตาที่ต่างจากที่เคยคุ้นตา เลยตั้งชื่อขนมนี้ว่า “ยูกิ กาละแม” โดยคำว่า ยูกิ ในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า หิมะ และน่าค้นหามาลองชิม