

หมูโสร่ง (Moo Sarong)
Fried Pork Ball with Noodle
Story
ชื่อเมนู “หมูโสร่ง” อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก แต่หลังจากละครเรื่องบุพเพสันนิวาสโด่งดัง หมูโสร่งก็เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น หมูโสร่งเป็นอาหารว่างแบบไทยโบราณ มีประวัติว่าเข้ามาประเทศไทยพร้อมกับเรือของโปรตุเกส และจีน (ข้อมูลจากส่วนหนึ่งของจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี) เหตุที่ชื่อว่า “หมูโสร่ง” ก็เพราะว่า เป็นการนำหมูสับมาแต่งตัว นุ่งผ้าโดยการพันเส้นหมี่ซั่ว เปรียบเสมือนการนุ่งโสร่งของคนในยุคโบราณ เมนูนี้มีหมูสับปรุงรสเป็นพระเอก และเส้นหมี่ซั่วที่พันรอบก้อนหมูสับเป็นนางเอก นำไปทอดให้กรุบกรอบ เป็นเมนูที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการพันเส้นหมี่ให้สวยงาม และทอดให้สุกทั่วทั้งลูก กรอบนอกนุ่มใน เพิ่มรสชาติด้วยการจับคู่กับน้ำจิ้มหรือซอสมะเขือเทศ เป็นเมนูที่ทำง่ายเพราะใช้เครื่องปรุงไม่กี่ชนิด แต่ความอร่อยไม่น้อยเลย แค่ปรุงรสชาติของหมูสับให้เข้มข้นถูกใจผู้รับประทาน
วัตถุดิบ : หมูโสร่ง
หมูบด 200 กรัม
รากผักชี กระเทียม พริกไทย (สามเกลอ) โขลกรวมกันให้ละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
ซีอิ้วขาว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา
แป้งข้าวโพด 1 ช้อนโต๊ะ
เส้นหมี่ซั่ว 100 กรัม
น้ำมันพืช (สำหรับใช้ทอด)
วิธีทำ : หมูโสร่ง
- ผสมหมูกับสามเกลอที่โขลกไว้ ซีอิ้วขาว น้ำตาลทราย แป้งข้าวโพด คลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 20 นาที
- นำเส้นหมี่ซั่วไปล้างน้ำให้สะอาด ให้เส้นแยกตัวออกจากกัน จับเส้นหมี่ซั่วรวมกัน 3 เส้น แยกกันไว้เป็นกลุ่ม
- ปั้นหมูเป็นก้อนเล็ก ๆ นำเส้นหมี่ซั่ว ที่แยกเป็นกลุ่มไว้ 3 เส้นมาพันรอบ ๆ ลักษณะคล้ายลูกตะกร้อหรือก้อนไหมพรม เมื่อพันรอบแล้วตัดเส้นหมี่ที่เหลือออกและซ่อนปลายเส้นไว้ด้านในเพื่อความสวยงาม และเวลาทอดเส้นจะไม่หลุดออกมา
- ตั้งกระทะใช้ไฟกลางค่อนข้างอ่อน นำก้อนหมูลงทอดให้มีสีเหลืองสวย และพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมัน
ช่อม่วง (Chor Muang)
Steamed Flower Shaped Dumpling
Story
“ช่อม่วง” เป็นของว่างที่ต้องใช้ความประณีตในการทำตามแบบฉบับขนมของชาววัง เป็นของว่างแบบคาวที่สามารถเลือกใช้ไส้ได้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นหมู ไก่ กุ้ง ปลา โรยหน้าด้วยกระเทียม ทานแกล้มกับผักกาดหอม ผักชีและพริกขี้หนู คล้ายกับข้าวเกรียบปากหม้อ สันนิษฐานว่า “ช่อม่วง” เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 จากหลักฐานที่ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน นอกจากความอร่อยแล้ว ช่อม่วงยังมีสีสันและหน้าตาที่สวยงามด้วย ด้วยขั้นตอนการทำหลายขั้นตอนและต้องใช้ความพิถีพิถันในการทำสูง ทำให้ช่อม่วงเริ่มหารับประทานได้ยากขึ้นในปัจจุบัน และเริ่มมี การอนุรักษ์ขนมชนิดนี้ไว้ หรือนำมาดัดแปลงสีสันต่าง ๆ เช่นสีชมพู สีเขียว หรือสีขาว เสิร์ฟพร้อมน้ำชากาแฟ อีกหนึ่งของว่างยามบ่ายแบบไทย ๆ ให้เข้ากับคนรุ่นใหม่
วัตถุดิบ : ช่อม่วง
แป้งข้าวเจ้า 1 ถ้วยตวง
แป้งท้าวยายม่อม 1 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 1 ช้อนโต๊ะ
แป้งข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ ¼ ช้อนชา
น้ำเปล่า ⅔ ถ้วยตวง
กะทิ ½ ถ้วยตวง
น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
หมูสับ ¼ ถ้วยตวง
รากผักชี กระเทียม พริกไทย โขลกรวมกัน 1 ช้อนโต๊ะ
หอมใหญ่ ¼ ถ้วยตวง
ไชโป๊หวาน ¼ ถ้วยตวง
น้ำตาลปี๊บ 3 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมเจียว 1 ช้อนโต๊ะ
ถั่วลิสงป่นหยาบ ¼ ถ้วยตวง
ดอกอัญชัน 10 ดอก
มะนาว 1 ลูก
น้ำตาลทราย 2 ช้อนชา
วิธีทำ : ช่อม่วง
- ผัดรากผักชี กระเทียม พริกไทยให้หอม ตามด้วยหมูสับ หอมใหญ่ ไชโป๊หวาน
- ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ ผัดด้วยไฟอ่อนจนแห้ง แล้วเติมถั่วลิสง
- ต้มดอกอัญชันและกรองเอาน้ำสีน้ำเงิน บีบมะนาวลงไปให้กลายเป็นสีม่วง
- ผสมแป้งทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกัน ใส่เกลือ น้ำตาลทราย น้ำมันพืช น้ำเปล่า กะทิ ตั้งเตาผัดให้แป้งสุก ค่อย ๆ ผสมน้ำดอกอัญชัญที่เตรียมไว้ลงไป
- เมื่อแป้งเย็นนำมานวดให้เข้าที่ นำแป้งมานิดหน่อยห่อหมูที่ผัดไว้ ปั้นเป็นก้อนกลม แล้วใช้แหนบสำหรับหนีบช่อม่วง หนีบเป็นกลีบดอกไม้โดยรอบ
- ตั้งซึ้งเตรียมนึ่ง ก่อนนึ่งให้พรมน้ำรอบตัวขนม นึ่ง 5 นาที แล้วพรมน้ำอีกครั้ง ตามด้วยการทาน้ำมันกระเทียมเจียว
- โรยกระเทียมที่หน้าขนม เสิร์ฟพร้อมผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู
ม้าฮ่อ (Ma Haaw)
Fresh Pineapple Morsel Topped with Minced Chicken and Peanuts
Story
“ม้าฮ่อ” เป็นอาหารว่างแบบไทยโบราณของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่มักทำกันในงานบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ เป็นเมนูที่ทำง่าย แต่ให้ความสดชื่นมาก เป็นการนำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวมารับประทานคู่กับไส้ที่มีลักษณะคล้ายกับไส้ของสาคูไส้หมู รสชาติเค็ม ๆหวาน ๆ เหมือนการรับประทานผลไม้กับพริกเกลือเพื่อลดความเปรี้ยวของผลไม้ แต่ไอเดียสร้างสรรค์กว่า ที่นิยมจะเป็นสับปะรด หากไม่มีก็ใช้ส้มเขียวหวาน แทนได้ แต่จะเรียกว่า มังกรคาบแก้วแทน ไม่มีประวัติความเป็นมาบันทึกไว้ชัดเจนว่าทำไมเมนูนี้จึงมีชื่อแปลกว่า “ม้าฮ่อ” หน้าตาของม้าฮ่อนั้นสวยงาม เหมาะใช้เป็นออเดิร์ฟเชิดหน้าชูตาในงานปาร์ตี้ ความเปรี้ยวของผลไม้จะช่วยเรียกน้ำย่อยและช่วยให้เจริญอาหาร อีกทั้งเป็นอาหารที่มีวิตามินซีสูงช่วยต้านหวัด และโรคอีกหลายชนิด
วัตถุดิบ : ม้าฮ่อ
รากผักชี กระเทียม พริกไทยขาว โขลกรวมกัน 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ
หอมแดงสับละเอียด ¼ ถ้วยตวง
เนื้อหมูติดมันเล็กน้อย สับละเอียด 1 ถ้วยตวง
เกลือ 1 ช้อนชา
น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
ถั่วลิสงโขลกละเอียด ¼ ถ้วยตวง
สับปะรดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 1 ลูก
ส้มหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ 2 ลูก
ผักชีเด็ดเป็นใบ ๆ และ พริกชี้ฟ้าแดงซอยเป็นเส้น สำหรับโรยหน้า
วิธีทำ : ม้าฮ่อ
- ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อนใส่น้ำมันพืช ใส่รากผักชี กระเทียมและพริกไทยที่โขลกรวมกันไว้ ใส่หอมแดงและผัดต่อให้สุก
- ใส่หมูสับลงไปผัดให้สุก ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำตาลปี๊บ ผัดต่อจนแห้ง
- ใส่ถั่วลิสงผัดให้เข้ากัน คลุกเคล้าให้ทั่ว พักไส้ไว้ให้เย็น
- ปั้นไส้ที่ผัดไว้เป็นลูกกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าลูกมะยม วางบนชิ้นส้มและสับปะรด
- นำใบผักชีและพริกชี้ฟ้าหั่นเส้นแต่งหน้าให้สวยงามพร้อมเสิร์ฟ

New Dish
เมนูสร้างสรรค์ใหม่
สายใยแห่งอโยธยา, ม้าฮ่อ 2021, กัณหาภรณ์แห่งรัตนโกสินทร์



สายใยแห่งอโยธยา
จากการรังสรรค์ของ
เชฟศรคมฐ์ แก้วเสมอตา (ราม)
ร้าน My Dining Chef
“สายใยแห่งอโยธยา” เมนูนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “หมูโสร่ง” เครื่องว่างที่มีประวัติอันยาวนานตามบันทึกที่พบของกรมหลวงนรินทรเทวี ได้บันทึกไว้ว่าเป็นเมนูลูกผสมระหว่างโปรตุเกส และจีน เป็นของว่างของคนในรั้วในวัง ซึ่งชาวบ้านได้นำเอาสูตรอาหารมาประยุกต์ เปลี่ยนจากเนื้อหมูเป็นเนื้อไก่ และไข่ไก่แทนเส้นหมี่ซั่ว ในปัจจุบันเมนูหมูโสร่งก็ไม่ได้หารับประทานได้ง่าย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทยโบราณถึงจะมีโอกาสได้พบเจอ ผมก็เลยอยากทำให้เมนูหมูโสร่ง หรือสายใยแห่งอโยธยาจานนี้ กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง โดยปรับให้มีความไฟน์ไดนิ่ง รูปแบบการนำเสนอแบบใหม่ที่ดูสนุกขึ้นและตื่นเต้นเวลารับประทาน อีกทั้งยังผสมผสานอาหารหลากเชื้อชาติ ตามแบบคนอโยธยา
ม้าฮ่อ 2021
จากการรังสรรค์ของ
เชฟชัชชษา อู่พิชิต (นุ้ย)
ร้าน My Dining Chef
“ม้าฮ่อ” เป็นเครื่องว่างไทยโบราณ ที่มักเสิร์ฟกับผลไม้รสเปรี้ยว ตัดกับตัวไส้ที่มีรสเค็มหวานจัดจึงนิยมเสิร์ฟเป็นคำเล็ก ๆ ปัจจุบันหารับประทานได้ยาก จึงอยากนำเสนอเมนูนี้เพื่อให้อาหารไทยได้รับการสืบทอดต่อไป สำหรับม้าฮ่อ 2021 นี้ นำเสนอในรสชาติและรูปลักษณ์ที่ไม่ทิ้งกลิ่นอายแบบโบราณ แต่ปรับในเรื่องของวัตถุดิบให้ร่วมสมัย ตัวผลไม้เลือกใช้กีวีสีทองที่มีรสหอมหวานอมเปรี้ยว ตัวไส้เพิ่มเนื้อกุ้งสดและอัลมอนด์อบเพื่อความหอมมัน เสริมรสเปรี้ยวสดชื่นด้วยโฟมเสาวรส นอกจากนั้นยังผสานกับเทคนิคการทำแบบสมัยใหม่เพื่อให้สมกับชื่อ “ม้าฮ่อ 2021”
กัณหาภรณ์แห่งรัตนโกสินทร์
จากการรังสรรค์ของ
เชฟศรคมฐ์ แก้วเสมอตา (ราม)
ร้าน My Dining Chef
“กัณหาภรณ์แห่งรัตนโกสินทร์” เป็นเมนูที่มีต้นแบบมาจาก “ช่อม่วง” ของว่างไทยที่มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เครื่องว่างชนิดนี้ปัจจุบันหารับประทานทานได้ยากมากแล้ว ด้วยความตัวเครื่องว่างมีข้อจำกัดหลายอย่าง เมื่อทำแล้วแทบจะต้องรับประทานในทันที ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน เนื่องจากรสชาติและรสสัมผัสจะเสียไป จึงไม่เป็นที่นิยมในการทำออกมาขาย สำหรับกัณหาภรณ์แห่งรัตนโกสินทร์ นั้นได้ปรับแต่งทั้งรูปร่างและผสมผสานเทคโนโลยีอาหารเข้าไป ทำให้ดูสวยงาม สนุกสนาน ชวนรับประทาน เป็นความตั้งใจที่จะคงไว้ซึ่งของว่างอันทรงคุณค่านี้ให้อยู่คู่กรุงรัตนโกสินทร์สืบไป
หมูโสร่งคุโรบุตะออเจ้า, มังกรคาบแก้ว, ช่อม่วงพวงคราม


หมูโสร่งคุโรบุตะออเจ้า
จากการรังสรรค์ของ
เชฟกุลรัศมิ์ อติชาติพงศ์ (กุญแจ)
ร้าน ทองหยิบทองหยอดคาเฟ่
จากละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เมนูมัดใจคุณพี่ขุนอย่าง “หมูโสร่ง” จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์เมนูอาหารว่างแบบไทยโบราณที่สมัยนี้น้อยคนจะรู้จัก ลักษณะเป็นหมูบดละเอียดที่นำมาผสมเครื่องปรุงรสแล้วปั้นเป็นก้อนกลม จากนั้นก็ทำการนุ่งโสร่งด้วยการพันด้วยเส้นหมี่ซั่วจนออกมาหน้าตาคล้ายกับลูกตระกร้อ แล้วก็นำไปทอดจนเหลืองกรอบ
มังกรคาบแก้ว
จากการรังสรรค์ของ
เชฟกุลรัศมิ์ อติชาติพงศ์ (กุญแจ)
ร้าน ทองหยิบทองหยอดคาเฟ่
เพิ่มความสนุกในการทำและใน การรับประทานด้วยการนำผลไม้รสเปรี้ยวที่ใช้ในการประกอบเมนูอื่น ๆ มาทำอาหารว่างไทยโบราณ อย่าง “ม้าฮ่อ” นอกจากนั้นได้ปรุงไส้รสหวานเค็มคล้ายไส้ของสาคูไส้หมู เพียงแต่จะไม่ใส่ไชโป๊ แต่งหน้าด้วยพริกชี้ฟ้าซอยหรือผักชี ให้รับประทานกันได้อย่างสดชื่น
ช่อม่วงพวงคราม
จากการรังสรรค์ของ
เชฟกุลรัศมิ์ อติชาติพงศ์ (กุญแจ)
ร้าน ทองหยิบทองหยอดคาเฟ่
“ช่อม่วง” เป็นอาหารว่างของคนไทยตั้งแต่โบราณเป็นขนมที่ต้องใช้ความประณีต และแฝงความมีศิลปะในการจับจีบให้มีลักษณะเป็นรูปดอกไม้ โดยขนมช่อม่วงเป็นสีธรรมชาติจากดอกอัญชัน ตัวไส้ทางร้านทำเป็นไส้ไก่ผัดผสมกับเครื่องเทศหอมฟุ้ง เสิร์ฟคู่กับผักกาดหอม ผักชี และพริกขี้หนู